ความมั่นคงของชาติ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พงศ. 2495 กล่าวว่า “ความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หมายความว่า การให้เอกราชของชาติหรือสวัสดิภาพของประชาชน ให้อยู่ในความมั่นคงปลอดภัย รวมตลอดถึงให้ประเทศดำรงอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” อีกนัยหนึ่ง คือ การที่รัฐรัฐหนึ่งสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยในทุกสภาวการณ์
ความมั่นคงของมนุษย์
ความมั่นคงของมนุษย์ หมายถึง สภาวะที่ประชาชนมีหลักประกันในสิทธิความปลอดภัย ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเอง โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใช้ตัวชี้วัด 10 ตัว คือ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา งานและรายได้ ครอบครัว ความมั่นคงส่วนบุคคล การสนับสนุนทางสังคม สังคม – วัฒนธรรม สิทธิและความเป็นธรรม การเมืองและธรรมาภิบาล
ความรู้มือหนึ่ง
ความรู้มือหนึ่งเป็นคำใหม่ที่ใช้กันใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” (โดยคุณสุรกิจ สุวรรณแกม นายก อบต.ดอนย่านาง อ.ภาษี จ.พระนครศรีฯ ใช้เป็นคนแรก) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ จากการปฏิบัติ จากความคิดสร้างสรรค์ ต่างจากความรู้มือสอง ซึ่งอยู่ในตำรา การเรียนรู้ที่ดีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การท่องตำรา แต่เป็นการสร้างความรู้ใหม่ โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่และหาใหม่ ความรู้มือสองและประสบการณ์ของคนอื่นมาช่วยให้เกิดการคิดการปฏิบัติเป็นกระบวนการจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ ความรู้ใหม่ที่สร้างเองนี้มีพลังจนอาจจะระเบิดศักยภาพภายในของแต่ละคนออกมา เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการเจริญเติบโต เกิดปัญญา
ความสัมพันธ์ชายหญิง (Gender)
ความสัมพันธ์ชายหญิงเป็นเรื่องไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องชีววิทยาหรือทางร่างกาย แต่ทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อว่ามีโครงสร้างระบบที่เพศชายเป็นผู้กำหนด ควบคุมและจัดการ ทำให้เพศชายอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบและเอาเปรียบเพศหญิงและมักอ้างว่า ความไม่เสมอภาคทางเพศและการแบ่งงานกันทำตามเพศระหว่างหญิงชายนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันหลีกเลี่ยงมิได้
การถกเถียงเรื่องนี้ก่อให้เกิดขบวนการสิทธิสตรี เปิดโอกาสให้สตรีได้รับสิทธิเท่าเทียมผู้ชายมากขึ้น เช่น การทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดียวกันได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งก่อนนั้นหญิงได้รับน้อยกว่าชาย สตรีมีตำแหน่งหน้าที่การงานและทางสังคมมากขึ้น เป็นผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และการเมืองทุกระดับ
คืนสู่ฐาน (Back To Basic)
คืนสู่ฐาน หมายถึง การกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่สับสนระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ เพราะความต้องการของคนไม่สิ้นสุด การคืนสู่ฐานจึงเป็นการเรียนรู้จักพออยู่พอกิน อยู่พอดี กินพอดี ไม่มากเกินไป น้อยเกินไป และเป้าหมายสุดท้ายคือความสุข ไม่สับสนระหว่างเป้าหมายและเครื่องมือ ไม่ใช่เอาเงินเป็นเป้าหมาย เอาความสุขเป็นผลพลอยได้ และทำทุกวิถีทางที่จะหาเงินให้ได้มาก ๆ จนเกิดทุกข์ สำหรับชีวิตที่พอเพียงคนจนคือคนที่ไม่รู้จักพอ คนรวยคือคนที่รู้จักพอ คนมีความสุขเพราะรู้จักพอ
ห่วงโซ่อาหาร
ห่วงโซ่อาหาร หมายถึง วงจรชีวิตในธรรมชาติ ซึ่งคน พืช สัตว์ สิ่งมีชีวิต ต่างก็ต้องกินกันเป็นอาหาร เป็นการถ่ายทอดพลังงานจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่ง การถ่ายทอดนี้คือห่วงโซ่อาหารที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศน์ เช่น สัตว์กินพืช คนกินเนื้อสัตว์ ห่วงโซ่อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับระบบนิเวศทำให้เกิดความสมดุลและวิวัฒนาการ
อาหารเสริม
อาหารเสริม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ขายกันตามท้องตลาด หรือตามสื่อต่าง ๆ ที่ใช้รับประทานเพื่อเสริมการรับประทานอาหารหลัก ไม่สามารถแทนการรับประทานอาหารหลักได้ ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย โดยอยู่ในรูปแบบของแคปซูล ผล ของเหลว เช่น ซุปไก่สกัด พรุนสกัด คนที่ร่างกายปกติรับประทานอาหารครบเพียงพอ ออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมเพราะจะมีราคาแพง
พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (Strategic Alliance)
พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ คือ ความร่วมมือเป็นทางการระหว่างสองบริษัทหรือมากกว่าเพื่อประสิทธิภาพหรือการได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเป็นอิสระจากกันในการบริหารจัดการ เป็นภาคีความร่วมมือที่อาจเกี่ยวกับกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การเงิน อุปกรณ์ ความรู้ ความชำนาญ หรือทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งภาคีเชื่อว่าการผนึกพลังจะทำให้เกิดผลดีกว่าการดำเนินการคนเดียว
คืนสู่ต้นธารชีวิต คืนสู่ธรรม (Back to the Source)
คืนสู่ต้นธารชีวิต คืนสู่ธรรม หมายถึง การกลับไปหาหลักธรรมหรือหลักปรัชญา อันเป็นพื้นฐานชีวิตของแต่ละคน จะได้รู้ที่มาและที่ไปของตนเอง จะได้รู้จักแยกระหว่างความดีกับความชั่ว ความจริงกับความเท็จ ไม่สับสนระหว่างทางไปสวรรค์กับทางลงนรก การกลับไปทบทวนหลักธรรมทางศาสนาทำให้พบคุณค่าและความหมายของชีวิต ได้ฟื้นฟูหลักการชีวิตให้ถูกต้องดีงาม วางเป้าหมายชีวิตที่ดีและมีวิธีทางที่ถูกต้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายทำให้มีความสุข
คืนสู่ธรรมชาติ (Back to the Nature)
คืนสู่ธรรมชาติ เป็นกระแสโลกปัจจุบันที่ได้พบว่าการพัฒนาที่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสามร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปมาก จนเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหลืออยู่ และฟื้นฟูที่เสียให้กลับมาให้มากที่สุด เพื่อฟื้นฟูความสมดุลในธรรมชาติ ยุคนี้จึงเป็นยุคของสุขภาพ “ปลอดสารเคมี” “อินทรีย์ชีวภาพ” เป็นยุคที่คนเห็นคุณค่าของผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใกล้ธรรมชาติมากกว่าผลผลิตของสังคมยุคใหม่และไฮเทค
การพึ่งตนเอง (Self – Reliance)
การพึ่งตนเองเป็นสภาวะอิสระ หมายถึง ความสามารถของคนที่ช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การพึ่งตนเอง หมายถึง การจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา การมีสวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิตปัจจุบันและอนาคต สวัสดิการที่พร้อมตอบสนองเราทันทีโดยไม่ต้องรอให้ใครมาจัดให้ หรือรอให้ใครมาช่วยเหลือ
เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรากฐานของการพึ่งตนเอง ทั้งระดับครอบครัว ชุมชนและระดับสังคมโดยรวม ดังที่ทรงมีกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. พ.ศ. 2517 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พัฒนาบนความมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว ค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นสูงในลำดับต่อไป”
การศึกษานอกระบบ
การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non – Formal Education) เป็นการศึกษาที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ สำหรับคนทุกเพศทุกวันที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนตามปกติ เป็นการจัดการศึกษาที่ผู้เรียนเลือกเรียนได้หลายวิธีจากโปรแกรมต่าง ๆ ผสมผสานจากการเรียนรู้จากสังคม จากธรรมชาติ เพื่อให้ได้ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ นำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองในการดำรงชีวิต ในการประกอบอาชีพและการแก้ไขปัญหาในชีวิต
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ระบุว่า การศึกษานอกระบบหมายถึง กิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบหลักสูตร วิธีการจัดระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่น และหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและวิธีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน เพื่อรับคุณวุฒิทางวิชาการซึ่งเทียบได้กับวุฒิการศึกษาในระบบ (ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น